1.ผลกระทบในเชิงบวก
การกำเนิดของคอมพิวเตอร์เมื่อประมาณหกสิบกว่าปีที่แล้ว
เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ยุคสารสนเทศ
ในช่วงแรกมีการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องคำนวณ
แต่ต่อมาได้มีความพยายามพัฒนาให้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการจัดการข้อมูล
เมื่อเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ได้ก้าวขึ้นมาขึ้น
สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กลง แต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น
สภาพการใช้งานจึงใช้งานอย่างแพร่หลาย
ผลของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่และสังคมจึงมีมาก
มีการเรียนรู้และการใช้เทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ผลของเทคโนโลยีสารสนเทศโดยรวมกล่าวได้ดังนี้
1.1
การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สภาพความเป็นอยู่ของสังคมเมืองมีการพัฒนาใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อติดต่อสื่อสารให้สะดวกขึ้น
มีการประยุกต์มาใช้กับเครื่องอำนวยความ สะดวกภายในบ้าน เช่น ใช้ควบคุมเครื่องปรับอากาศและใช้ควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น
1.2
เสริมสร้างความเท่าเทียมในสังคมและการกระจายโอกาส เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการกระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ถิ่นทุรกันดาร ทำให้มีการกระจายโอกาสการเรียนรู้ มีการใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกล การกระจายการเรียนรู้ไปยังถิ่นห่างไกล นอกจากนี้ในปัจจุบันมีความพยายามที่ใช้ระบบการรักษาพยาบาลผ่านเครือข่ายสื่อสาร
1.3
สารสนเทศกับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา
การเรียนการสอนในโรงเรียนมีการนำคอมพิวเตอร์และเครื่องมือประกอบช่วยในการเรียนรู้ เช่น วีดิทัศน์ เครื่องฉายภาพ
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน คอมพิวเตอร์ช่วยจัดการศึกษา จัดตารางสอน คำนวณระดับคะแนน จัดชั้นเรียน ทำรายงานเพื่อให้ผู้บริหารได้ทราบถึงปัญหาและการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสถานศึกษา ปัจจุบันมีการเรียนการสอนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในสถานศึกษาทุกระดับมากยิ่งขึ้น
1.4
เทคโนโลยีสารสนเทศกับสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างจำเป็น ต้องใช้สารสนเทศ เช่น การดูแลรักษาป่า จำเป็นต้องใช้ข้อมูล มีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม การติดตามข้อมูลสภาพอากาศ การพยากรณ์อากาศ การจำลองรูปแบบสภาวะสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงแก้ไข การเก็บรวมรวมข้อมูลคุณภาพน้ำในแม่น้ำต่างๆ การตรวจวัดมลภาวะ ตลอดจนการใช้ระบบการตรวจวัดระยะไกลมาช่วย ที่เรียกว่าโทรมาตร เป็นต้น
1.5
เทคโนโลยีสารสนเทศกับการปูองกันประเทศ
กิจการทางด้านการทหารมีการใช้ เทคโนโลยี อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และระบบควบคุม มีการใช้ระบบป้องกันภัย ระบบเฝ้าระวังที่มีคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน
1.6
การผลิตในอุตสาหกรรม และการพาณิชยกรรม การแข่งขันทางด้านการผลิตสินค้า อุตสาหกรรมจำเป็นต้องหาวิธีการในการผลิตให้ได้มาก ราคาถูกลงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมาก มีการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการบริหารและการจัดการ การดำเนินการและยังรวมไปถึงการให้บริการกับลูกค้า เพื่อให้ซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน บทบาทเหล่านี้มีแนวโน้มที่สำคัญมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่จึงควรเรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ก้าวหน้าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไป
2. ผลกระทบในเชิงลบ
2.1 ผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มาผลิตสื่อการเรียนการสอนอาทิ
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนผ่านเว็บ หรือบทเรียนออนไลน์
(e-Learning) อาจทำให้เกิดปัญหาที่เห็นได้ชัด
เช่น
2.1.1 ผู้สอนกับผู้เรียนจะขาดความสัมพันธ์และความใกล้ชิดกันเพราะผู้เรียน สามารถ ที่จะเรียนได้ในโปรแกรมสำเร็จรูปทำให้ความสำคัญของสถานศึกษาและผู้สอนลดน้อยลง
2.1.2 ผู้เรียนที่มีฐานะยากจนไม่สามารถที่จะใช้สื่อประเภทนี้ได้ ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างนักเรียนที่มีฐานะดีและยากจน ทำให้เห็นว่าผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจก็ย่อมที่จะมีโอกาสทางการศึกษาและทางสังคมดีกว่าด้วย
ผลกระทบในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในด้านการเรียนการสอนควรนำมาใช้เป็นสื่อเสริมอย่างเหมาะสมต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด ส่วนบทบาทของสถาบันการศึกษาควรจัดสรรสื่อให้เพียงพอและเหมาะสมกับผู้เรียนและสภาวะแวดล้อม จะให้ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่า
2.2 ผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสิ่งแวดล้อม
อาจเกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์นำเทคโนโลยีทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปพัฒนาอย่างผิดวิธีและนำไปใช้ในทางที่ผิด เพราะมุ่งเพียงแต่จะก่อประโยชน์ให้แก่ตนเองเท่านั้น ดังนั้นผู้นำมาใช้จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ ความเหมาะสม มีการประเมินความจำเป็น
วิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนนำมาใช้
2.3 ผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสังคม
2.3.1 การนำเทคโนโลยีมาใช้อาจทำให้เกิดปัญหาการว่างงานจากการใช้แรงงานมนุษย์ เพราะภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการเกษตรมีความต้องการใช้แรงงานมนุษย์ลดลงในการเพิ่มผลผลิต
2.3.2 การปรับตัวเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของพนักงานที่มีอายุมากหรือมีความรู้น้อย ก็จะทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ และรู้สึกว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ทำได้ยากต้องมีความรู้จึงจะเข้าใจได้
2.3.3 สมาชิกในสังคมมีการดำเนินชีวิตที่ต่างคนต่างอยู่ไม่มีความสัมพันธ์กันภายในสังคมเพราะต่างมีชีวิตที่ต้องรีบเร่งและดิ้นรน
ดังนั้นคนในสังคมจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสังคมสารสนเทศ ต้องพัฒนาตนเอง รู้เท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วใช้ให้เหมาะสมกับงาน
2.4 ผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อเศรษฐกิจ
2.4.1 มนุษย์สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายมากขึ้นเพราะมีบัตรเครดิตทำให้ไม้ต้องพกเงินสด หากต้องการซื้ออะไรที่ไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าก็สามารถซื้อได้ทันทีเพียงแต่มีบัตรเครดิตเท่านั้นทำให้อัตราการเป็นหนี้สูงขึ้น
2.4.2 การแข่งขันกันทางธุรกิจมีมากขึ้นเพราะต่างก็มุ่งหวังผลกำไรซึ่งก็เกิดผลดี
คืออัตราการขยายตัวทางธุรกิจสูงขึ้นแต่ผลกระทบก็เกิดตามมา ซึ่งบางครั้งก็มุ่งแต่แข่งขันจนลืมความมีมนุษยธรรมหรือความมีน้ำใจไป
หากจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในวงการธุรกิจ ควรเป็นลักษณะของหุ้นส่วนการค้า การร่วมทุน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสื่อสารและกำหนดมาตรฐานร่วมกัน เช่น การใช้ระบบแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Data Interchange: EDI) ในการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในการค้าอิเล็กทรอนิกส์
2.5 ผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสุขภาพจิต
2.5.1 เมื่อดำเนินการชีวิตแบบเดิมที่เป็นแบบเรียบง่าย ต้องเปลี่ยนมาปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบันตลอดเวลาก็อาจจะทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลไม่ว่าจะในหน้าที่การงานหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน
2.5.2 พฤติกรรมของเยาวชน
โดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ทำให้เยาวชนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบการต่อสู้ และการใช้กำลัง เป็นต้น
2.5.3 นักธุรกิจต้องทำงานแข่งกับเวลา ไม่มีเวลาได้พักผ่อนก็ก่อให้เกิดวามเครียด สุขภาพจิตก็เสียตามมาด้วย
ดังนั้นทุกคนในครอบครัวตลอดจนสังคมควรเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน ให่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เหมาะสม ถูกต้องตามหลักศีลธรรม
กล่าวโดยสรุปในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมีทั้งด้านบวกและด้านลบ หากนำมาใช้ให้เหมาะสมก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเพิ่มศักยภาพการทำงานในหลายสาขาอาชีพ
เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม และด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่หากใช้เทคโนโลยีสารสนเทศโดยไม่ระมัดระวังและขาดจิตสำนึก คุณธรรมจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ก็จะส่งผลกระทบหลายด้านเช่นกัน อาทิ ด้านสังคม สุขภาพจิต รวมถึงการศึกษาด้วย ดังนั้นผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ
จริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงความปลอดภัยในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ
บรรณานุกรม
สุขุม เฉลยทรัพย์และคณะ. (2551).
เทคโนโลยีสารสนเทศ. (พิมพ์ครั้งที่
6). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.